อ่านเจอข่าวนี้เข้า
"ส.ค.-ต.ค."พายุใหญ่ถล่มไทย สมิทธฟันธงกทม.จมใต้บาดาล
"สมิทธ" ฟันธง "ส.ค.-ต.ค." พายุใหญ่ถล่มประเทศไทย ทำให้ กทม.จมบาดาล ระบบประปาพินาศ คนเมืองหลวงไม่มีน้ำใช้ จี้หน่วยงานรัฐเร่งหามาตรการรับมือโดยด่วน ขณะที่อดีตนายกสภาวิศวกรรมสถานฯ หวั่น "วัดพระแก้ว" เสียหายหากเกิดน้ำท่วมพระบรมมหาราชวัง
การ ออกมาแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติครั้ง ใหญ่ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ครั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ในการเสวนาเรื่อง "แผนรับมือวิบัติภัยในมหานครกรุงเทพ" ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร การเสวนาครั้งนี้มีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมเสวนา
ดร. สมิทธกล่าวว่า จากการศึกษาและติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติมาโดยตลอด พบว่าภัยพิบัติที่จะกระทบ กทม.และปริมณฑล มีอยู่ 2 ประเภท คือ ภัยที่เกิดจากแผ่นดินไหว และภัยที่เกิดจากน้ำท่วมขัง ซึ่งเกิดจากสภาวะโลกร้อน โดยภัยที่เกิดจากแผ่นดินไหวเป็นภัยที่รุนแรงและมีผลกระทบต่อมนุษย์จำนวนมาก ทั้งนี้ ประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่ 13 รอย และจากการศึกษาพบว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ รอยเลื่อนทั้งหมดเกิดรอยร้าวเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน ซึ่งการเกิดรอยร้าวดังกล่าวทำให้อาคารที่โครงสร้างไม่แข็งแรงใน จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ มีโอกาสถล่มลงมาได้
ดร.สมิทธกล่าวต่อว่า ในพื้นที่ กทม.อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากรอยเลื่อน 2 รอย คือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี หากเกิดแผ่นดินไหวซ้ำขึ้นมาอีก เชื่อว่าจะส่งผลให้เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์แตก และทำให้น้ำปริมาณกว่า 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลทะลักเข้าสู่ จ.ราชบุรี จ.นครปฐม และ กทม.
"กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนดินเลน เมื่อได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวแล้ว ระยะสั่นสะเทือนจะขยายตัว 2-3 ริกเตอร์ ทำให้อาคารที่สูงไม่เกิน 6 ชั้น อาจแตกร้าวและพังทลายลงมา ส่วนอาคารสูงไม่น่าเป็นห่วง เพราะวิศวกรได้ออกแบบอาคารไว้รองรับอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีความพร้อมในการรับมือกับแผ่นดินไหว โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงอาจทำให้เกิดความเสียหายมาก" ดร.สมิทธกล่าว
ผู้ อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวว่า ภัยที่เกิดจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากสภาวะโลกร้อนขึ้นนั้น จากสถิติไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าพายุที่เกิดในมหาสมุทรอินเดียจะมีแรงลมสูงมาก ถึงขนาดเป็นไซโคลน แต่ตอนนี้เกิดขึ้นแล้วคือพายุไซโคลนนาร์กีส ซึ่งมีความเร็วลมสูงถึง 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อขึ้นฝั่งในลุ่มน้ำอิระวดีในพม่า แรงลมสูงสุดถึง 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความรุนแรงถึงระดับ 4
"ผมขอทำนายว่าในเดือน สิงหาคมถึงเดือนตุลาคมนี้ จะมีพายุขนาดใหญ่พัดถล่มประเทศไทย ทางด้านอ่าวไทย ไล่ตั้งแต่ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.เพชรบุรี เข้ามา ซึ่งอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์สตรอม เสิร์ช (Strom Search) หรือน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้น้ำทะเลไหลเข้ามาถึงบริเวณปากอ่าวเจ้าพระยา และเข้าท่วมพื้นที่ กทม. โดยกว่าจะไหลย้อนกลับสู่ทะเลต้องใช้เวลานานกว่า 2-3 สัปดาห์ และหากท่วมเหนือคลองประปา จะทำให้ประชาชนไม่มีน้ำในการอุปโภคบริโภค" ดร.สมิทธกล่าว
ด้านนาย ต่อตระกูลกล่าวว่า มีความเป็นห่วงว่าหากเกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นจริงจะทำให้อาคารและสิ่งปลูกสร้าง ที่สำคัญหลายแห่งเสียหายโดยเฉพาะวัดพระแก้ว ซึ่งก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ไม่ได้มีการฝังเสาลงดิน หากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่พระบรมมหาราชวังก็จะทำให้เสื่อมความแข็งแรงลงอย่าง รวดเร็ว
หลังการเสวนา "คม ชัด ลึก" ได้สอบถามไปยัง ดร.วัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการฝ่ายอุตุนิยมวิทยาทะเล กรมอุตุนิยมวิทยา เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดพายุใหญ่พัดถล่มประเทศไทยตามที่ ดร.สมิทธกล่าวในการเสวนา ดร.วัฒนาระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม อาจจะเกิดพายุใหญ่ถล่มประเทศไทย เพราะช่วงดังกล่าวเป็นช่วงฤดูฝน อยู่ระหว่างช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าประเทศไทย จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าช่วงดังกล่าวมีพายุพัดถล่มประเทศไทยมาแล้วหลายครั้ง อย่างเช่น พายุไต้ฝุ่นเกย์ พายุไต้ฝุ่นลินดา ที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อนก็เกิดขึ้นในช่วงนี้
ดร. วัฒนากล่าวต่อว่า สภาวะโลกร้อนอาจส่งผลให้ความรุนแรงของพายุเพิ่มมากขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า หากพายุพัดเข้าสู่พื้นที่ที่เป็นเมืองก็อาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะหากพายุเคลื่อนเข้าประเทศไทยทางฝั่งภาคตะวันออกจะทำให้เกิดผลกระทบ ต่อพื้นที่ กทม.โดยตรง ซึ่งมีความเป็นห่วงว่า หากมีพายุพัดเข้าบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้ แก่ กทม. เนื่องจากขณะนี้แม้จะมีการสร้างเขื่อนกั้นริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาในหลายจุด แต่การสร้างเขื่อนที่ผ่านมาทำเพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำเหนือไหล หลาก ไม่ได้มีไว้รองรับพายุที่พัดเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้บริเวณปากแม่น้ำยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อน หากเกิดพายุพัดกระหน่ำจริง เขื่อนที่มีอยู่ก็ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมได้
ดร.วัฒนา กล่าวด้วยว่า มีความเป็นห่วงว่าหากช่วงเวลาที่เกิดพายุตรงกับช่วงที่ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง สุดจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวอาจทำให้เกิดคลื่นขนาดยักษ์พัดกระหน่ำบริเวณชายฝั่ง หากอาคารบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งไม่แข็งแรงก็จะสร้างความเสียหายร้ายแรงทั้ง ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยามีการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมความพร้อมไว้ด้วย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอพยพผู้ประสบภัย เพราะขณะเกิดเหตุภัยพิบัติหากมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัยได้รวด เร็ว ความเสียหายต่อชีวิตของประชาชนก็จะลดน้อยลง
http://www.komchadluek.net/2008/06/05/x_main_a001_205562.php?news_id=205562
...
ความรู้สึกแรกในหัวคือ "อีกแล้ว"
รู้สึกว่า ดร.สมิทธ จะชอบออกมาทายอะไรที่ออกแนว The day after tomorrow บ่อยมากๆ
แถมส่วนมากไม่ค่อยถูกเท่าไหร่เสียด้วย...
ไม่เป็นไรครับ โบราณว่าจิ้งจกทัก ยังให้หยุดฟัง
คนทักทั้งคน ผมก็กลัวเป็นเหมือนกัน
เพราะถ้าแผ่นดินไหว เขื่อนแตก น้ำทะเลทะลักจริง
อย่าว่าแต่กรุงเทพเลยครับ สมุทรปราการบ้านผมก็ไม่รอด
แน่นอน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง บ้านผมก็ถล่มครับ แถมด้วยน้ำท่วมด้วย
กำลังคิดว่าจะไปเกาะตรงไหนอยู่ดี...
คงต้องเริ่มขนหนังสือหายากใส่กล่องพลาสติกไว้ที่สูงแล้วสินะ...
อ้อ... หาน้ำดื่มกับอาหารแห้งเก็บตุนด้วย...
ไม้พายซักอัน ใครลอยมาติด ก็ตีหัวมันแล้วเขี่ยมันลอยน้ำไป...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
เชิญแสดงความคิดเห็น